ในที่สุดเทศกาลที่หลายต่อหลายหลายคนรอคอย ก็มาถึง จะเป็นวันอื่นไปไม่ได้ วันที่กล่าวถึงก็ คือเทศกาลสงกรานต์นั่นเอง!
เพราะหลายๆคนคงตั้งตารอที่จะหยุดยาว กลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มีประวัติมายาวนาน
และหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้ CRM Ultra จึงมานำเสนอ สาระน่ารู้ในวันสงกรานต์ให้ทุกท่านได้ทราบกัน
"สงกรานต์" หรือ “สํ-กรานต” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ผ่าน หรือการเคลื่อนที่ ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากตีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุก ๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ เมื่อใดก็ตามจะเป็นสงกรานต์ และเรียกชื่อพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก)
ตำนานวันสงกรานต์
สมัยก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐี จึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ นับ แต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลา ย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "ธรรมบาล" ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร
เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง 7 ขวบก็เรียนจบไตรเพท ยังมีเทพองค์หนึ่งชื่อ "ท้าวกบิลพรหม" ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า
1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก 7 วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า "พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน" นกสามีก็ตอบว่า "พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกถามว่า "ปัญหานั้นว่าอย่างไร" นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง
ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ทำให้ท้าวกบิลพรหมพ่ายแพ้ไป
ท้าวกบิลพรหมจึงเรียก ธิดาทั้ง 7 ของตน อันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกั น แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุท ร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะแล้วจึงตัดศีรษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุก ๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา 7 องค์ ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก เกิดเป็นตำนานนางสงกรานต์ขึ้น
นางสงกรานต์ประจำปีนี้ คือ มโหธรเทวี
เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
ดังนั้น การกำหนดวันนับสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ 12 เดือน
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า เถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือวันที่เริ่มจุดเปลี่ยนศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้ว อย่างน้อย 1 องศา
CRM Ultra ขออวยพรให้ท่าน มีแต่รอยยิ้ม ความสุขและความอิ่มเอมใจ ด้วยรักและห่วงใย สวัสดีวันสงกรานต์ 2567
แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาจาก กระทรวงวัฒนธรรม, กรมศิลปากร