วันวิสาขบูชา วันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา วันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน




วันวิสาขบูชามีความเป็นมาและความสำคัญอย่างมาก โดยวันวิสาขบูชาประจำปี 2567 ตรงกับวันพุธ ที่ 22 พฤษภาคม 2567 เดิมทีชาวพุทธเคารพบูชาเจดีย์และต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายมากขึ้น การบูชาด้วยการจุดประทีปนมัสการพระพุทธรูปก็แพร่หลายตามมา หลักฐานแสดงให้เห็นว่า มีการบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ราวพุทธศตวรรษที่ 3 ต่อมาพระมหินทรเถรได้นำธรรมบัญญัติไปเผยแพร่ในประเทศลังกาและได้สถาปนาวันนี้ขึ้น จนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วโลก วันวิสาขบูชามีความสำคัญอย่างไร มีเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาใดเกิดขึ้น CRM Ultra ได้นำมาฝากในบทความนี้แล้ว มาดูกันเลย...





วิสาขบูชา หมายถึงอะไร...

วันวิสาขบูชา มีชื่อเต็มว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าครั้งสมัยพุทธกาล วันเพ็ญเดือนวิสาขะ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีเรียกว่าวันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวงแรกหลังฤดูร้อนของไทย โดยมีความสำคัญ 3 ประการ






ความสำคัญ 3 ประการในวันวิสาขบูชา

1. เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลองให้กับการบังเกิดของพระศาสดาผู้ทรงค้นพบความจริงอันประเสริฐ
เหตุการณ์สำคัญครั้งแรก เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ โอรสพระเจ้าสุทโธธนะ และ พระนาง สิริมหามายาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ของฝ่ายพระราชบิดา กับกรุงเทวทหะของฝ่ายพระราชมารดา





2. เป็นวันตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า หลังจากบำเพ็ญเพียรอย่างยากลำบาก พระองค์ทรงค้นพบหนทางดับทุกข์และบรรลุธรรมอันสูงสุด
เหตุการณ์ครั้งที่ 2 เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายหลังจากการออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็น ตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย





3. เป็นวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก
เหตุการณ์สำคัญ ครั้งที่ 3 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ภายหลังจากการตรัสรู้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัย และโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย  

ดังนั้นวันวิสาขบูชาจึงเป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระคุณและเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ประการของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อพระพุทธองค์ และเป็นโอกาสในการทบทวนหลักคำสอนเพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติ





หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชาอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน

1. ความกตัญญู 
คือ รู้บุญคุณ คู่กับความกตเวที คือตอบแทนบุญคุณ

2. อริยสัจ 4 
คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีขึ้นได้แก่ทุกคนมี 4 ประการ ดังนี้
ทุกข์ 
(ปัญหาของชีวิต)
สมุทัย 
(เหตุแห่งปัญหา)
นิโรธ 
(การแก้ปัญหาได้)
มรรค 
(ทางหรือวิธีแก้ปัญหา) หรือมรรคมีองค์

3. ความไม่ประมาท 
คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด สติ คือการระลึกรู้ทันที่คิด พูดและทำ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำสิ่งต่างๆ





วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระคุณและเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ประการของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อพระพุทธองค์ และเป็นโอกาสในการทบทวนหลักคำสอนเพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน


แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
 133
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์